ปัจจุบันหลายคนรู้จัก จี๊ด – พิชิต วีรังคบุตร ในบทบาทรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA แต่หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เขาเคยเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ของค่ายเบเกอรี่ มิวสิค ผู้ฝากผลงานน่าจดจำไว้หลายชิ้น รวมถึงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ปกให้กับวง P.O.P หลายอัลบั้ม โอกาสที่อัลบั้ม P.O.P – Period of Party ที่วางแผงครั้งแรกปี 2000 กลับมาโลดแล่นอีกครั้งในรูปแบบแผ่นเสียงเวอร์ชันปี 2024 เขาจึงรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลการออกแบบปกและแพ็กเกจที่น่าเก็บสะสมเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนกลับไปสมัยที่เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ค่ายเบเกอรี่ มิวสิค ตอนนั้นวางทิศทางการออกแบบปกอัลบั้มของศิลปินในค่ายอย่างไร สร้างความแตกต่างและโดดเด่นด้วยวิธีการแบบไหน
เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของเบเกอรี่ มิวสิคที่ร่วมทุนกับทาง BMG แนวทางของโจทย์ที่ได้รับมาคือเรื่องยอดขายและการเติบโตของรายได้ ทิศทางการออกแบบปกอัลบั้มของศิลปินในค่ายเบเกอรี่เลยเปลี่ยนมาเน้นภาพตัวศิลปินขึ้นปกให้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ทางทีมสร้างสรรค์และออกแบบก็พยายามมองหารูปแบบการนำเสนอและวิธีคิดแบบอื่นเพิ่มเข้าไป ให้ปกอัลบั้มบนแผงมีความหลากหลายมากขึ้น โดยทำการหาข้อมูลเพื่อกำหนดคอนเซปต์แต่ละอัลบั้ม และขายวงหรือศิลปินก่อนที่จะผ่านไปด่านต่างๆ (มักจะขอขายพี่สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ก่อน เพื่อให้พี่สมเกียรติ Endorse ความคิดนั้นๆ) ก่อนไปถึงส่วนงานการตลาดและสื่อสาร
เบเกอรี่ มิวสิค มีจุดแข็งที่ความสามารถของศิลปิน แนวทางและเนื้อหาของดนตรี การสร้างความแตกต่างทาง Visual ก็เป็นเครื่องมือหลัก (หรือจริงๆ แล้วเป็นเครื่องมือเดียว) ของบริษัทในการสื่อสาร ทำความรู้จักและสร้างประสบการณ์ร่วมกับคนฟังได้ ปี 2000 เป็นยุคที่คาสเซ็ทเทปเริ่มถูกแทนที่ด้วยซีดี เบเกอรี่ มิวสิค จึงให้ความสำคัญกับการออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้แข่งขันได้กับค่ายอินดี้อื่นๆ ที่เริ่มมีการดีไซน์แพ็กเกจซีดีสวยๆ
การสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นของเบเกอรี่ มิวสิคในส่วนงาน Visual ต้องให้เครดิตกับพี่ทอม-วรุตม์ ปันยารชุน (อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ค่ายเบเกอรี่ มิวสิค) ที่วางรากฐานมาเป็นอย่างดี บวกกับนักออกแบบและอาร์ตไดเรกเตอร์ทุกคน มีไลฟ์สไตล์สนใจในเรื่องการฟังเพลง การออกแบบ แวดวงแฟชั่น แม้กระทั่งแวดวงหนังสือและนิตยสารอาร์ต ที่มักจะมีงานสวยๆ ล้ำๆ ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็น Input ที่สำคัญมาก พอมาทำโปรเจกต์ก็จะมี Reference ล้ำๆ มาคุยกัน และก็จะปิดงานด้วยการเสนองานที่มีความก้าวหน้าแบบ ‘เท่ห์ๆ’ และ ‘แรดๆ’ (ในความหมายเชิงบวก) เพื่อสร้าง Core Product ให้สามารถรับรู้เชิงประสบการณ์สัมผัสและมีภาพจำที่ดีที่สุด
ในปี 2000 ที่ออกแบบปกอัลบั้ม P.O.P เทรนด์การออกแบบในยุคนั้นเป็นยังไง ต้องการสื่อสารอะไรผ่านผลงานชิ้นนี้
เป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้มีแค่ค่ายดนตรีกระแสหลัก แต่เริ่มมีค่ายเพลงอิสระ ค่ายเพลงอินดี้ ที่ผลิตงานดนตรีออกมาสร้างทางเลือกให้ผู้ฟังมากขึ้น การแข่งขันแน่นอนอยู่ที่คุณภาพของเพลง เทรนด์การออกแบบตอนนั้น จากความทรงจำหลักๆ ถ้าเป็นกระแสหลักก็จะเป็นการออกแบบที่เน้นภาพศิลปินขึ้นปก ใช้แพ็กเกจซีดีพลาสติกเป็นหลัก
ส่วนค่ายอิสระหรืออินดี้ก็มีทุกรูปแบบ ทั้งใช้ภาพศิลปินขึ้นปก สร้างภาพกราฟฟิก ใช้ภาพอื่นแทนศิลปิน แพ็กเกจนอกจากเคสพลาสติก ก็จะมีแพ็กเกจกระดาษในรูปแบบและขนาดที่ใหญ่กว่ามาตรฐาน เพื่อสร้างความสนใจและจุดดึงดูดลูกค้า
ปกอัลบั้ม Period of Party เป็นอัลบั้มที่ 2 ของวง ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จจากอัลบั้มแรก ERA (1998) มีเพลงฮิตติดหูหลายเพลง แต่คนจำนักร้องนำได้เพียงคนเดียว หลังจากได้ประชุมทีม ที่มีพี่ทอม – วรุตม์ ปันยารชุน ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ คุณโปน – พอพล อินทรวิชัย อาร์ตไดเรกเตอร์ และคุณนุก – ภาณุ พันธุมสินชัย ดีไซเนอร์ เราก็ตัดสินใจนำเสนอสมาชิกในวงแยกทั้ง 3 คน และเน้นบุคลิกของแต่ละคน โดยใช้ Geometry Form, Rubric และ Colour Code น้ำเงิน เหลือง แดง เป็นแนวทางการออกแบบ
ผลงานที่ออกมาจึงเป็นรูปทรงเลขาคณิตและ Grid System ไม่เน้นรูปถ่ายของศิลปินเลย แม้จะมีโอกาสทำงานร่วมกับช่างภาพอย่างพี่โก๋ – นพดล ขาวสำอางค์ และไปเช่าโลเคชันที่ดูล้ำอย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลอง 5 ที่เพิ่งเปิดทำการได้ไม่นานในสมัยนั้น ถ้าใครมีอัลบั้มนี้ในมือ ลองพลิกดูจะเห็นรูปรวมเล็กๆ ของทั้ง 3 คนอยู่ด้านซ้ายมือเท่านั้น
เทคนิคและสไตล์ที่ใช้ในการออกแบบปกอัลบั้ม P.O.P เรียกว่าอะไร มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอะไรที่น่าสนใจบ้าง ถ้าให้คอมเมนต์ผลงานชิ้นนี้ด้วยมุมมองของตัวเราในปัจจุบัน คิดว่ามีอะไรอยากพูดถึงบ้าง
อยากพูดว่า “ทีมพยายามสร้างสรรค์และ Push Boundaries” อย่างแพ็กเกจซีดีลิมิเต็ด 3,000 แผ่น เราได้ล้อรูปแบบระบบลิ้นชัก Play Station 2 ซึ่งเพิ่งออกมาใหม่ มีความพยายามที่จะทำต้นแบบให้ที่ใส่แผ่นซีดีสามารถดึงออกแบบลิ้นชักได้และที่สำคัญไม่หลุดจากกัน เป็นความท้าทายในสมัยที่ทุกอย่างต้องคิดแพตเทิร์นเพื่อขึ้นรูปและผลิตจากกระดาษเท่านั้น
God is in the detail กลุ่มตัวอักษรที่เป็นรายชื่อเพลงบนหน้าปก เป็นการออกแบบโดยวางตัวอักษรทีละตัวให้ตรงกริด ถ้ามองแบบผิวเผินก็เป็นการ Auto Alignment ตัวอักษรทั้งหมดให้เฉลี่ยเสมอหน้าหลัง แต่ในรายละเอียดตัวอักษรทุกตัวถูกนับและจัดวางให้ Center แนวดิ่งตรงแถวในทุกแถว เพื่อให้ Grid System ของตัวอักษรทำงานเป็นภาพ
เนื่องจากคอนเซปต์อัลบั้มเน้นรูปทรงเลขาคณิต เนื้อเพลงทั้งหมดจึงถูกเรียงให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเพื่อจัดองค์ประกอบของ Design Direction และด้วยเนื้อที่ที่จำกัดมากทำให้ขนาดของตัวอักษรเล็กทำลายสถิติโลก (หัวเราะ) คือน้อยคนที่จะอ่านได้ครับ และ Lyrics เพลงที่ยังไม่ครบ ณ เวลาที่ต้องปิดอาร์ตเวิร์กในช่วงเวลานั้น
ในอัลบั้มนี้ก็พยายามจะนำเสนอความแตกต่างจากระบบการพิมพ์ Offset CMYK โดยคุณนุกนักออกแบบได้ทดลองการพิมพ์สีดำแบบ 4 เพลทบนสีดำ 1 เพลท ซึ่งให้ผลลัพท์ที่น่าสนใจ คือในสีดำจะมีมิติของสีดำที่แตกต่างเด้งออกมา ซึ่งเทคนิคนี้ก็ถูกส่งต่อมาในการผลิตแผ่นเสียงครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ผลงานปกอัลบั้ม P.O.P ที่ผลิตซ้ำอีกครั้งในรูปแบบแผ่นเสียง มีอะไรใหม่ๆ ที่ใส่เพิ่มเข้ามาจากเวอร์ชันซีดีบ้าง
อัลบั้ม Period of Party ไม่เคยผลิตเป็นแผ่นเสียง เนื่องจากตอนนั้นแผ่นเสียงไม่ได้รับความนิยมและเป็นของตกยุค ในการผลิตแผ่นเสียงครั้งนี้ รูปภาพทั้งหมดเป็นฟิลม์สไลด์และฟิล์มเนกาทีฟที่ถ่ายไว้ตั้งแต่วันถ่ายภาพปกเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ไม่ได้สแกนปกมาผลิตใหม่ ตลอดจน Typeface ก็ตามหามาจนครบ เพื่อให้การผลิตครั้งนี้สามารถถ่ายทอด Principle, คุณภาพ และแนวคิดที่ถ้าในปีนั้นจะมีแผ่นเสียงออกมาก็จะมีหน้าตาเป็นแบบนี้